เมื่อพูดถึงน้ำผึ้ง ใครๆก็คงจะนึกถึงรสชาติที่แสนหอมหวาน โดดเด่น ไม่เหมือนใครใช่ไหมล่ะ มีคนจำนวนมากที่ชื่นชอบและหลงใหลในรสของน้ำผึ้งจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว
แล้วเคยสงสัยกันไหมล่ะว่า “ทำไมน้ำผึ้งแท้ถึงไม่มีวันหมดอายุ? ไม่ว่าจะแช่เย็นหรือเก็บไว้ในห้องปกติ ผ่านไปเป็นปีก็ยังเอากลับมากินได้หอมหวานอร่อย ไม่ได้มีความรู้สึกว่ามันบูดเลย #เหมียวบู้บี้ ก็เลยไปค้นหาและรวบรวมข้อมูลมาไขข้อสงสัยให้กับทุกคนกันค่ะ
ก่อนอื่นเรามาเรียนรู้กระบวนการทำน้ำผึ้งกันก่อน…
กระบวนการในการผลิตน้ำผึ้งแท้ตามธรรมชาติ เริ่มจากผึ้งงานออกไปเก็บน้ำหวานจากดอกไม้ดูดลงเก็บไว้ในกระเพาะน้ำหวาน เอนไซม์ที่อยู่ในปากผึ้งก็จะถูกขับออกมาคลุกเคล้ากับน้ำหวาน เพื่อช่วยย่อยน้ำตาลกลูโคสและฟรุกโทสให้กลายเป็นน้ำตาลเด็กโทรสและน้ำตาลอื่นๆ
อ้อ!! แล้วรู้รึเปล่าว่าการกระพือปีกบินกลับรังของมันจะช่วยเร่งการทำงานของเอนไซม์ ตลอดจนช่วยลดความชื้นในน้ำหวานได้อีกด้วย
พอกลับถึงรังมันก็จะคายน้ำหวานให้กับผึ้งงานที่อยู่ประจำรังแบบปากต่อปาก ทำให้เกิดการสร้างกระบวนการเคมีอีกทอดหนึ่ง เสร็จแล้วก็จะนำน้ำหวานที่ได้นี้ไปบรรจุลงในหลอดรวงผึ้ง และพวกผึ้งก็จะช่วยกันกระพือปีกเพื่อช่วยในการระเหยของน้ำหวานจนทำให้ได้น้ำผึ้งแท้ ที่มีน้ำเหลืออยู่เพียง 18 % เท่านั้น
แล้วทำไมน้ำผึ้งจึงไม่เน่าเสีย!?
ด้วยเอนไซม์จากน้ำลายผึ้งที่เติมลงในน้ำหวานคือ กลูโคสออกซิเดส เอนไซม์ตัวนี้จะช่วยชะลอการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ยิ่งเก็บไว้นานๆ เอนไซม์ตัวนี้ก็จะทำให้ไม่เกิดการเน่าเสีย โดยการเปลี่ยนกลูโคสให้กลายเป็นกรดกลูโคนิกกับไฮโดรเจนเปออ็อกไซด์ที่มีฤทธิ์ฆ่าแบคทีเรีย
สาเหตุที่สำคัญที่สุดที่ทำให้น้ำผึ้งไม่มีวันหมดอายุนั่นก็เพราะว่า ในน้ำผึ้งมีปริมาณน้ำตาลและความเป็นกรดสูงทำให้แบคทีเรียและยีสต์ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ และถ้าเก็บน้ำผึ้งไว้ในภาชนะที่ปิดสนิทก็จะทำให้น้ำผึ้งแท้บริสุทธิ์สามารถเก็บไว้ได้นานแสนนานทีเดียวในประเทศจีน ได้มีการจารึกเกี่ยวกับการใช้น้ำผึ้งและการตีผึ้งป่ามานานกว่า 3,000 ปี มาแล้ว แต่เริ่มเลี้ยงผึ้งโพรงกันจริงจังเมื่อประมาณ 300 ปีมานี้เอง ส่วนในประเทศไทยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบจารึกบนศิลาหลังที่สอง ที่วัดศรีชุม กล่าวถึงเรื่องฝูงผึ้งและผึ้งในนิทานชาดก ตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย (พ.ศ.1890-1920) นอกจากนั้นยังมีหลักฐานเกี่ยวตำรับยาไทยโบราณบางตำรับที่ใช้ตัวยาผสมกับน้ำผึ้ง ดังนั้นสันนิษฐานได้ว่าคนไทยคงจะบริโภคน้ำผึ้ง มานานหลายร้อยปีมาแล้วเช่นกัน